top of page
  • Ploy M.

PLP HQ

Since 2019

แนวคิด

เรามีความสนใจในการนำองค์ความรู้ของสถาปัตยกรรมไทยโบราณมาผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เหมาะกับภูมิอากาศและการใช้งานที่ตอบสนองวิถีชีวิตไลฟ์แบบปัจจุบัน


เมื่อศึกษาลงลึก เราก็ค้นพบว่าที่จริงแล้วสถาปัตยกรรมไทย ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ของอาคารหลังคาจั่ว เสาสูงหรือมีใต้ถุน แต่สิ่งที่ทำให้เกิดเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม เราจึงสนใจที่จะศึกษาภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อรูปร่าง รูปทรงของตัวอาคารเพื่อให้ผู้ใช้งานเกิดภาวะสบาย และสะดวกกับดารใช้งานในประจำวัน มากกว่ามุ่งเน้นในด้านอัตลักษณ์ความสวยงามเพียงอย่างเดียว


เมื่อศึกษาเรื่องภูมิอากาศไปเรื่อยๆ ก็พบว่าแท้จริงแล้วโลกเราอยู่ในสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกกันว่า Cilmate change เห็นได้จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น ถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น เราอาจจะไม่ทันสังเกตุ เพราะจริงๆภูมิอากาศโลกค่อยๆเปลี่ยนไปทีละนิด


เราจึงสนใจในการออกแบบอาคารที่สามารถปรับตัวต่อภัยพิบัติได้ เลยลองทดลองออกแบบกับออฟฟิศ plp ดู ด้วยการใช้หลักการสถาปัตยกรรมไทย ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป


ใกล้ตัวที่สุดก็คือน้ำท่วม


เราได้อ่านบทความหลายๆเรื่องเกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วม คือถ้าน้ำท่วมเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็จะมีโอกาสเกิดซ้ำ และมีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายที่รุนแรงขึ้น จริงๆแล้ว มนุษย์ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ไม่ว่าเราจะสร้างอะไร ป้องกันแน่นหนาแค่ไหน ยังไงธรรมชาติก็ยังจะชนะเราอยู่ดี สิ่งที่เราทำได้และควรทำคือ เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ไม่ทำลายธรรมชาติไปมากกว่านี้ และเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป


การออกแบบ

เราจึงออกแบบอาคารออฟฟิศ plp ให้รับมือและปรับตัวกับภัยพิบัติได้ อย่างเรื่องน้ำท่วมเรื่องนึงละ เรายกตัวอาคารขึ้น ให้ตั้งบนเสาตามหลักการของบ้านไทย ที่สามารถปล่อยให้น้ำไหลผ่านได้ เผื่อเหตุการณ์น้ำท่วมสูงจริงๆ เราก็ยังสามารถใช้งานตัวอาคารได้ตามปกติ


ตัวพื้นในส่วนที่ยกขึ้นนี้ เราพยายามให้มีพื้นที่ดาดแข็ง(พื้นคอนกรีต) ให้น้อยที่สุด ส่วนที่โรยกรวด ข้างใต้นี้คือพื้นดิน เวลาฝนตกน้ำฝนก็จะซึมลงสู่ดิน ไม่ไหลลงถนนเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำ สร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้านอีก


เมื่อตัวอาคารยกขึ้นสูง ข้อดีก็คือ เราก็ได้พื้นที่ใต้ถุนมาจอดรถ ใช้สอยกิจกรรมอื่นๆ แถมยังทำให้อากาศถ่ายเทสะดวก ข้างบ้านก็ได้รับลมไปด้วย เราไม่อยากสร้างอาคารแล้วไปบลอคลมเพื่อนบ้าน พอเค้าอยู่สบาย เราก็สบายใจกันทั้ง 2 ฝ่าย คือเราพยายามสร้าง environment ที่ดีให้แก่กัน


ลึกลงไปที่พื้นที่ใต้ดิน มีถังเก็บน้ำที่เพียงพอต่อการใช้น้ำได้เกือบๆ 1 เดือน (สำหรับ 3-4 คน) เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน ที่ไม่สามารถใช้น้ำประปาได้ แล้วเรายังเตรียมระบบ grey water นำน้ำที่ใช้แล้ว กลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ โดยการนำไปรดต้นไม้ โครงการในอนาคตคือจะทำแปลงเพาะปลูกสวนผักคนเมือง จะได้ใช้ระบบน้ำหมุนเวียนตรงนี้


โครงสร้างของตึกนี้เป็นเหล็กทั้งหมด พยายามใช้คอนกรีตให้น้อยที่สุด เพราะเหล็กคือวัสดุที่มี sustainability สูง สามารถนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้ ย่นระยะเวลาในการก่อสร้าง เท่ากับเป็นการประหยัดพลังงาน เป็นการก่อสร้างที่สะอาด ฝุ่นน้อย ลดผลกระทบต่อเพื่อนบ้าน และยังปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่างานคอนกรีตอีกด้วย และถ้าวางแผนดีๆ เศษเหลือของเหล็กจะน้อยมาก โครงสร้างเหล็กจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมของการออกแบบอาคารนี้ และในด้านภัยพิบัติ หากเกิดแผ่นดินไหว คุณสมบัติที่เบา มีความยืดหยุ่นและรับแรงสั่นสะเทือนได้ดีของโครงสร้างเหล็กจะช่วยให้โอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากแรงสัานสะเทือนลดลง ในบริบทกรุงเทพฯอาจเกิดโอกาสแผ่นดินไหวได้ต่ำ แต่อย่าลืมว่าเมืองเรามีการก่อสร้างอยู่ตลอดเวลา แรงสั่นสะเทือนเหล่านั้นก็มีผลต่อตัวอาคารเช่นกัน


ตัวผนังอาคาร

จะสังเกตุได้ว่า ทุกวันนี้โลกเราร้อนขึ้นเรื่อย ยิ่งร้อนก็ยิ่งเปิดแอร์ ยิ่งเปิดแอร์โลกก็ยิ่งร้อน การเปิดแอร์เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราจึงศึกษาและคิดว่าถ้าเราสามารถป้องกันความร้อนจากภายนออก โดยไม่เสรยพื้นที่ใช้สอยภายใน แล้วยังลดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองได้ด้วย คงเป็นเรื่องดี เราจึงใช้ผนัง Sandwich wall ซึ่งทำมาจากแผ่นโฟม EPS กันไฟ ประกบ metal sheet คุณสมบัติของผนังนี้คือลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร นอกจากป้องกันความร้อนเข้าตัวอาคารแล้ว ยังเก็บกักความเย็น ทำให้ใช้แอร์น้อยลงอีกด้วย บางวันที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป เราก็สามารถอยู่ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์เลย ซึ่งยากมาก ในบริบทกรุงเทพฯ แต่ออฟฟิศเราทำได้ สบายมาก


นอกจากจะป้องกันความร้อนแล้ว ตัวอาคารยังอาศัยหลักการถ่ายเทอากาศ โดยวางตำแหน่งช่องเปิดให้เหมาะสม สามารถถ่ายเทความร้อนและรับลมได้ดี ทำให้คนอยู่ในอาคารรู้สึกสบายตัว ด้านหน้าอาคารถูกติดตั้งหน้าต่างบานเกล็ดเต็มพื้นที่ เพื่อให้ระบานอากาศได้ดีและให้พื้นที่ด้านในได้รับแสงธรรมชาติอย่างเพียงพอ นอกจากลดการใช้แอร์แล้ว ก็ลดการใช้ไฟด้วย เราจะมั่นใจได้ว่า ในกรณีที่เราไม่มีไฟฟ้าใช้ อย่างน้อยๆเราก็ได้ลม ได้แสงธรรมชาติอย่างเพียงพอแน่นอน


เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแอร์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเราไปแล้ว แต่เราก็พยายามจะใช้แอร์แบบประหยัดพลังงานและประหยัดพื้นที่มากที่สุด เราจึงเลือกแอร์ระบบ VRF (Variable Refrigerant Flow) ซึ่งเป็นระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split type) ข้อดีของมันคือ ใช้ CDU (Condensing Unit) น้อย แต่สามารถควบคุม FCU (Fan Coil Unit) ได้หลายตัว ระบบนี้เป็นระบบจ่ายน้ำยาแบบผกผัน คือจ่ายน้ำยาตามอุณหภูมิห้อง เมื่อห้องได้อุณหภูมิที่เหมาะสมแล้วระบบก็จะเริ่มลดการจ่ายปริมาณน้ำยาลง แต่เมื่อห้องเริ่มร้อนขึ้นระบบก็จะเพิ่มปริมาณน้ำยา ผลลัพท์ที่ได้คือไม่สิ้นเปลืองพลังงานการทำความเย็นไปโดยเปล่าประโยชน์ และยังมีระบบเชื่อมต่อ สามารถใช้กับระบบ IoT ได้อีกด้วย


ซึ่งนอกจากรีโมทแอร์แล้ว สวิตช์ไฟต่างๆในออฟฟิศก็เป็นระบบ Wireless เช่นกัน คือเราไม่จำเป็นต้องเดินสายให้วุ่นวายไปที่สวิตช์ และเราก็สามารถจัดการกับระบบสวิตช์ได้ภายหลัง โดยไม่ต้องพึ่งพาช่างไฟ ระบบนี้ก็ถูกเชื่อมโยงเข้ากับสมาร์ทโฟน คือเราสามารถสั่งเปิดหรือปิดไฟได้จากมือถือ อีกทั้งเรายังมองเห็นสถานะไฟได้ด้วย เผื่อไฟจุดไหนถูกเปิดทิ้งไว้ เราก็สามารถสั่งปิดได้ ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน โดยในอนาคต เราวางแผนจะเชื่อมต่อระบบนี้เข้ากับชุดโซลาร์เซลส์ ที่เตรียมจะติดตั้งบนดาดฟ้าของอาคาร อย่างน้อยเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน เรายังมีระบบ off-grid เอาไว้ใช้งานได้ด้วย


จะเห็นได้ว่าการออกแบบของออฟฟิศเรา เน้นการออกแบบที่ประหยัดพลังงาน สามารถรับมือและปรับตัวกับสถานการณ์ภูมิอากาศที่แปรปรวนของโลกยุคใหม่ได้อย่างเหมาะสม เพราะเราเชื่อว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และสถาปัตยกรรมควรเปลี่ยนแปลงตามเพื่อปกป้องและตอบสนองการใช้งานที่ทันสมัยมากขึ้น และก็ควรรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ให้มากขึ้นด้วย































306 views0 comments

Recent Posts

See All

H533

bottom of page